ตรวจสุขภาพช่องปาก

หลายคนมักจะไปหาหมอฟันในตอนที่มีอาการปวดฟันแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในรักษามากมาย ทั้งที่จริงแล้วทุกคนสามารถรับมือ หรือป้องกันได้ง่ายๆด้วยการตรวจสุขภาพช่องปากทุกๆ 6 เดือน หรืออย่างน้อยทุก 1 ปี

ตรวจสุขภาพช่องปาก คุณหมอทำอะไรบ้าง

นอกจากคุณหมอจะตรวจด้วยสายตาแล้ว จะมีการขูดหินปูนทำความสะอาดฟัน และเหงือกด้วย โดยปกติแนะนำว่าควรตรวจฟันและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนในคนไข้ที่ฟันผุง่าย เป็นโรคเหงือก อาจจะต้องตรวจทุกๆ 3 เดือน  นอกจากนี้การ X-ray เพื่อตรวจฟันผุด้านข้างก็มีความสำคัญ เพราะด้านที่ฟันชิดกันหรือติดกัน คุณหมอจะไม่สามารถมองเห็นฟันผุได้

Dental x-ray

การตรวจฟันผ่านการดูด้วยตาเปล่าอาจไม่เพียงพอที่จะเห็นความผิดปกติของฟันทุกซี่ได้ หลายครั้งที่ลองส่องกระจกดูแล้วไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติใดๆ แต่แท้จริงแล้วเมื่อทันตแพทย์เอกซเรย์ฟันออกมา กลับเห็นตำแหน่งที่ฟันผุซ่อนอยู่

เป็นอีกหนึ่งกระบวนการตรวจดูสุขภาพฟันและหาความผิดปกติของฟันทุกซี่อย่างละเอียด ผ่านการถ่ายภาพรังสีเพื่อให้แพทย์ได้เห็นภาพโครงสร้างของฟันตั้งแต่ส่วนที่พ้นจากเหงือกและอยู่ใต้เหงือก รวมถึงไว้สำหรับเก็บเป็นข้อมูลประวัติสุขภาพฟันของผู้เข้ารับบริการ และยังใช้สำหรับวางแผนการจัดฟัน ทำรากฟันเทียม หรืองานฟันปลอมต่างๆ

Itero element 5D

เครื่อง iTero Element 5D คือ เครื่องแสกนฟันที่สามารถเก็บภาพฟัน ขนาด และรูปร่างฟันเสมือนขนาดจริง ทำให้สามารถออกแบบโมเดล 3 มิติ ออกมาได้อย่างแม่นยำ ใช้เวลาในการสแกนน้อยเพียง 10-15 นาที สามารถเชื่อมต่อเข้าระบบ Invisalign เพื่อส่งโมเดลฟันไปสู่ขั้นตอนการวางแผนการจัดฟันใส และผลิตชิ้นงานได้รวดเร็ว สามารถส่งผลการสแกนให้แลปเพื่อผลิตฟันปลอม ครอบฟันได้ทันที ช่วยประหยัดเวลาในการรอชิ้นงาน

ขูดหินปูน

      คราบหินปูน เกิดจากการสะสมของคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก ที่มาจากเศษอาหารกลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์เกาะอยู่ที่ขอบฟันที่ติดกับเหงือก เมื่อทับถมกันมากเข้าก็จะมีลักษณะเป็นคราบหินปูน และเกาะแน่นที่ฟันซึ่งก่อเกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่นโรคเหงือกอักเสบ การขูดหินปูนควรทำทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดโรคเหงือกอักเสบ

ขูดหินปูนเจ็บไหม

โดยส่วนมากการขูดหินปูนมักจะเกิดอาการเสียวฟันขณะขูดมากกว่ารู้สึกเจ็บ และระดับความเสียวมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสุขภาพช่องปากและฟัน ถ้ามีอาการเจ็บจะเกิดจากหินปูนที่เกาะตามซอกฟันจำนวนมาก และอาจมีเลือดออกระหว่างการรักษา ถ้ามีอาการเจ็บมากทันตแพทย์จะพิจารณาการใช้ยาชาร่วมด้วย เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

ขั้นตอนการขูดหินปูน

ขั้นที่ 1. คุณหมอจะทำการตรวจสุขภาพฟันโดยรวมด้วยการนำกระจกขนาดเล็กส่องดูรอบ ๆ ฟันและเหงือกเพื่อหาสัญญาณของเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ

ขั้นที่ 2. คุณหมอจะเริ่มใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนออกอาจทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงขูด ทั้งนี้จะใช้เวลานานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูน

ขั้นที่ 3. หลังจากขูดหินปูนออกหมดแล้ว ทันตแพทย์จะใช้หัวแปรงขัดไฟฟ้าทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้างหลังจากการขูดออกไป

ขั้นที่ 4. คุณหมอจะใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยตรวจสอบว่ามีบริเวณร่องฟันหรือส่วนใดของเหงือกที่มีปัญหา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้เลือดออกจากเหงือกได้หากเหงือกบริเวณดังกล่าวอ่อนแอหรืออักเสบมาก หลังจากนั้นคนไข้บ้วนปากก็เป็นอันเสร็จการขูดหินปูน

Airflow

การขจัดคราบด้วยเครื่อง Airflow จะแตกต่างจากการขูดหินปูน เนื่องจากมีรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เครื่อง Airflow ขจัดคราบโดยใช้ 3 พลัง แรงดันน้ำ แรงลม และผงขัดอณูเล็ก ช่วยล้างคราบที่ติดบนผิวฟันออก เช่น คราบชา กาแฟ บุหรี่ คราบน้ำผลไม้ หรือคราบจากอาหารที่มีสีเข้มออกโดยไม่ทำร้ายผิวฟัน

อุดฟัน

การอุดฟันเป็นการบูรณะฟันแบบหนึ่ง โดยใช้วัสดุอุดฟันเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้ได้รูปร่างฟันคงเดิมและสามารถใช้งานได้ตามปกติ ช่วยกำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุไม่ให้ลุกลาม บูรณะเนื้อฟันส่วนที่สูญเสียไป

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน

  1. ควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงรับประทานอาหารและนอนหลับให้เพียงพอ
  2. หากมีโรคประจำตัวและมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำควรรับประทานอาหารและยาตามปกติ
  3. ในเด็กควรเข้ารับการรักษาหลังจากการทานอาหาร 2 ชั่วโมงเพื่อป้องกันการอาเจียน
  4. ผู้ที่มีความวิตกกังวลสูง หรือผู้ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาทันตแพทย์อาจพิจารณาในการทำการรักษาภายใต้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย

ประเภทการอุดฟัน

  1. การอุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม (สีโลหะ)
  2. การอุดฟันด้วยวัสดุคอมโพสิต (สีเหมือนฟัน)

ข้อดีของการอุดฟัน

ลดการลุกลามและลดอาการเสียวฟันช่วยเสริมเนื้อฟันในส่วนที่หายไปให้กลับมาแข็งแรงและใช้งานได้อีกครั้ง ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน

คำแนะนำหลังการอุดฟัน

  1. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟันเคี้ยวอาหารแข็งเพื่อป้องกันการแตกของวัสดุอุด
  2. อาจมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารที่ร้อนจัดหรือเย็นจัดภายหลังการอุดฟันควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็งภายใน 2-3 สัปดาห์
  3. หากมีอาการเจ็บฟันเวลาเคี้ยวภายหลังการอุดอาจเกิดจากวัสดุอุดฟันสูงเกินสามารถกลับมาให้ทันตแพทย์ช่วยแก้ไขให้ได้
  4. หากวัสดุอุดฟันหลุดให้กลับมาอุดใหม่อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจเกิดฟันผุลุกลามได้
  5. ควรทำความสะอาดฟันด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธีและใช้ไหมขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ
  6. ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน

ทันตกรรมสำหรับเด็ก

คุณหมอจะให้คำปรึกษาการดูแลรักษา และป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันแก่เด็กและคุณแม่ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 12 ปี เช่นการขัดฟันเคลือบฟลูออไรด์สอนการแปรงฟันสำหรับเด็ก การเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุ นอกจากนี้เด็กบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่น การอุดฟัน การรักษาโพรงประสาทฟัน การครอบฟัน กรณีที่มีฟันผุลุกลามมาก การถอนฟัน การ X-ray ตรวจสุขภาพฟัน การใส่เครื่องมือกันฟันล้มหรือเครื่องมือขยาย ช่องว่างสำหรับฟันแท้